ผู้สนใจสมัครเรียน
การจัดการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต (ระดับปริญญาเอก)
ในปี 2552 ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขากายภาพบำบัด ทั้งนี้เนื่องจากภาควิชาฯเล็งเห็นว่า ในปัจจุบันนี้ ยังมีความขาดแคลนนักวิจัยทางกายภาพบำบัดอยู่มาก จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนางานกายภาพบำบัดไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งทางภาควิชาฯ มีความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ อุปกรณ์ในการค้นคว้าวิจัยที่ทันสมัย และสถานที่ที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนและการวิจัย จึงเห็นสมควรให้มีการขยายการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต เพื่อให้เกิดการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่และเทคโนโลยีใหม่ทางด้านกายภาพบำบัดที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในอนาคต
การเปิดหลักสูตรดังกล่าวมีหลักการและเหตุผลคือ การพัฒนางานกายภาพบำบัดในประเทศไทยให้มีความเจริญรุดหน้าเทียบเท่าอารยประเทศนั้น นอกจากต้องอาศัยนักกายภาพบำบัดที่มีความรู้และทักษะความชำนาญสูงแล้ว จำเป็นต้องอาศัยการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่รวมทั้งการสังเคราะห์และประยุกต์องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีอยู่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยด้วย จึงจะทำให้การให้บริการทางกายภาพบำบัดแก่ประชาชนเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและคุ้มค่ากับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
ในการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัดนั้น ได้นำสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวข้างต้น รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) มาเป็นกรอบในการคิด โดยหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักกายภาพบำบัดที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการทำวิจัยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม ทำให้สามารถรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้กับนานาประเทศ และลดการพึ่งพาทางด้านต่างๆ จากต่างประเทศ จึงสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาไปสู่ประเทศไทย 4.0 เป็นอย่างดี
จากเหตุผลดังกล่าว ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเห็นว่าสมควรให้มีการขยายการศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ความ ชำนาญเฉพาะทาง โดยเสนอให้ปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561) ซึ่งเป็นหลักสูตรกายภาพบำบัดเฉพาะทางขึ้น โดยแบ่งการศึกษาเป็น 6 แขนงวิชาได้แก่
1) กายภาพบำบัดในผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
2) กายภาพบำบัดโดยวิธีการดัดดึง
3) กายภาพบำบัดในผู้ป่วยระบบประสาท
4) กายภาพบำบัดในผู้ป่วยระบบหัวใจ หายใจ และหลอดเลือด
5) กายภาพบำบัดในผู้ป่วยเด็ก
6) กายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ
- ดาวน์โหลด หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2566)
- ดาวน์โหลด หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561)
- ดาวน์โหลด Doctor of Philosophy Program in Physical Therapy (Revision 2018)
- ดาวน์โหลด หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556)
- ดาวน์โหลด Doctor of Philosophy Program in Physical Therapy (Revision 2013)